ข้อมูลสิ่งมีชีวิต


วันที่อัพเดท : 12 มิ.ย. 2566 12:11 น.
วันที่สร้าง: 12 มิ.ย. 2566 12:11 น.
ข้อมูลทั่วไป
รายละเอียดอื่นๆ ของแหล่งที่พบ :
- พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง–ปากน้ำตรัง
- ป่าชายเลนคุระบุรี, อ่าวจาก
แหล่งที่พบภายในประเทศ :
- พังงา
ลักษณะทางสัณฐานวิทยา :
- ไม้เลื้อย (Climber)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- เป็นไม้หนามพาดเลื้อย ยาวถึง 15 ม. กิ่งแขนงเรียว สีน้ำตาลถึงดำ ลำต้น กิ่งและแกนช่อใบมีหนามงองุ้มห่างๆ คล้ายหนามกุหลาบ ลำต้นแก่มีหนามลักษณะคล้ายเล็บของเหยี่ยว
ใบ ประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียนสลับ ประกอบด้วยแขนงช่อใบย่อยแบบขนนกปลายคู่ 2-4 คู่ เรียงตรงข้าม แต่ละช่อมีใบย่อย 2-4 คู่ แผ่นใบย่อยรูปไข่ถึงรูปรี ขนาด 1-3x2-6 ซม. โคนใบสอบถึงมนกลม ขอบใบเรียบ ปลายใบมนถึงแหลม เส้นใบแบบร่างแหขนนก เส้นกลางใบยุบตัว เส้นแขนง 5-7 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห เนื้อใบบางคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันวาว ด้านล่างสีซีดกว่า หูใบรูปลิ่มแคบ ขนาดเล็ก หลุดร่วงง่าย
ดอก แบบช่อเชิงลดมีก้าน ออกตามง่ามใบ หรือเป็นช่อเชิงลดมีก้านแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง แต่ละช่อยาว 10-20(-40) ซม. ดอกสมบูรณ์เพศ รูปดอกนนทรี ดอกบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 ซม. ก้านเกลี้ยงยาว 1-1.5 ซม. กลีบดอกสีเหลืองสด กลีบบนมีแต้มสีแดงเป็นลาย เกสรเพศผู้ 10 อัน ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน
ผล แบบฝักถั่ว รูปทรงรีแกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด แบน ผิวเกลี้ยง ขนาด 2-4x4-6 ซม. โคนฝักสอบเข้าหาก้านผล ปลายฝักเป็นจะงอยแหลม ฝักแก่ไม่แตก สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดแบนคล้ายรูปไต สีดำ ขนาด 3x2 ซม. มี 1(2) เมล็ด ฝักแก่ระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม
การกระจายพันธุ์ :
- ประเทศอินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย และหมู่เกาะริวกิว