ความเป็นมา






พื้นที่สงวนชีวมณฑลของประเทศไทยมีกี่แห่ง
ระเทศไทยมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่
1. พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ราช จังหวัดนครราชสีมา : ตั้งอยู่ที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว ได้รับการประกาศในปี 2519 เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง


2. พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา - คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่: ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศในปี 2520 มีสภาพเป็นป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง และป่าผสมผลัดใบ


3. พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง : ตั้งอยู่ที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง ได้รับการประกาศในปี 2520 มีสภาพเป็นป่าผสมผลัดใบที่มีไม้สักป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และสวนป่าสัก


4. พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง : ตั้งอยู่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ได้รับการประกาศในปี 2540 สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน และทะเล


เกร็ดความรู้ : ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการมนุษย์และชีวมณฑลเมื่อปี พ.ศ. 2519

พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง ที่ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก (UNESCO)

พื้นที่สงวนมณฑลระนองเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 4 ของประเทศไทย ที่ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี พ.ศ. 2540



เหตุผลในการเสนอเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล

ป่าชายเลนจังหวัดระนอง เป็นพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีงานวิจัยในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านป่าชายเลนอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ปี 2525 ดังนั้นในปี 2539 กรมป่าไม้จึงเสนอ พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณอำเภอเมืองระนองให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล เพื่อต้องการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลนให้คงความอุดมสมบูรณ์ ให้ประชาชนได้ประโยชน์จากป่าชายเลน ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการฝึกอบรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

อาณาเขตและสภาพพื้นที่

พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง มีพื้นที่ประมาณ 189,431 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองระนอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหงาว และบางส่วนของตำบลปากน้ำ ตำบลบางริ้น ตำบลราชกรูด


• ทิศเหนือ ติดกับคลองระนอง และปากน้ำระนอง
• ทิศใต้ ติดกับทะเลอันดามัน และคลองทรายขาว
• ทิศตะวันออก ติดกับอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว
• ทิศตะวันตก ติดกับทะเลอันดามัน


หมายเหตุ :


จำนวนพื้นที่ 189,431 ไร่ เป็นจำนวนพื้นที่จากแผนที่แนบท้ายประกาศ เขตพื้นที่สงวนชีวมณฑลเมื่อปี พ.ศ. 2540 แต่ในปี 2557 กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนได้นำแผนที่ดังกล่าวมาดัดแก้เชิงเรขาคณิต (Rectifi) ให้ตรงกับแผนที่สภาพภูมิประเทศ พบว่า มีพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง มีพื้นที่รวม 190,782.1 ไร่

การแบ่งพื้นที่ อาศัยภูมิประเทศ และความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนและกิจกรรมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 3 เขต




1. พื้นที่แกนกลาง (Core area) มีพื้นที่ 40,762 ไร่ มีสภาพเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ 28,588 ไร่ ล้อมรอบด้วยคลองและทะเล เหมาะเป็นแหล่งสงวนและอนุบาลสัตว์น้ำ และมีส่วนที่เป็นป่าดิบชื้น 12,174 ไร่


2. พื้นที่กันชน (Buffer zone) มีพื้นที่ 108,038 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน มีบางส่วนเป็นชุมชน นากุ้ง พื้นที่เกษตรกรรม และป่าบก


3. พื้นที่รอบนอก (Transition area) มีพื้นที่ 40,631 ไร่ มีสภาพเป็นแหล่งชุมชน ถนน สวนยาง สวนปาล์ม สวนมะพร้าว เหมืองแร่ร้าง และอุตสาหกรรม


สภาพพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง

พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นทะเลและป่าชายเลน มีพื้นที่บางส่วนเป็นเนินเขา ทุ่งหญ้าและมีป่าดิบชื้น กระจายอยู่ทั่วไป ในบริเวณพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนองมีลำคลองต่าง ๆ หลายสายที่ไหลลงสู่ทะเลที่สำคัญได้แก่ คลองหงาว คลองละออง คลองบางริ้น และคลองทรายขาว จึงทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีป่าชายเลนกระจายเป็นบริเวณกว้าง นับเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและเป็นป่าชายเลนแห่งแรกของโลกที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล


การขึ้นลงของน้ำทะเล

มีการขึ้นลงวันละ 2 ครั้ง หรือเรียกว่าน้ำคู่ (semidiurnal tide) ช่วงน้ำใหญ่ หรือน้ำเกิด (ประมาณ 12 - 3 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม) จะมีน้ำในลำคลองมากกว่าปกติ น้ำจะไหลเชี่ยวการขึ้นลงของน้ำทะเลค่อนข้างเร็ว น้ำทะเลจะท่วมถึงป่าชายเลน สูงประมาณ 1 เมตร และเมื่อน้ำลง น้ำในลำคลองบางบริเวณจะแห้ง ส่วนในช่วงน้ำตาย (ประมาณ 7 - 11 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม) น้ำในลำคลองจะมีปริมาณไม่มาก พื้นที่ส่วนใหญ่ในป่าชายเลนน้ำทะเลจะท่วมไม่ถึง


ลักษณะดินป่าชายเลน

ชั้นหน้าตัดดินในป่าชายเลนจังหวัดระนอง มีค่าความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร เนื้อดินมีสภาพเป็นดินเหนียว ดินเหนียวปนทราย และดินทราย ซึ่งเป็นดินที่มีเนื้อละเอียดมาก (เส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร) และมีกลิ่นของซากพืช ซากสัตว์ บางส่วนมีกลิ่นเปรี้ยว


เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และจุดท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่น่าสนใจ

1. เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ

บริเวณศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 (ระนอง) มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่สร้างด้วยคอนกรีต มีราวกั้น ลักษณะเป็นวงรอบ ระยะทางยาว 850 เมตร ระหว่างเส้นทางเดิน จะมีศาลาที่พัก พร้อมป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ทรัพยากรมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับเข้าไปศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน และเป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจ

2. เส้นทางล่องเรือ

บริเวณศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 (ระนอง) มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่สร้างด้วยคอนกรีต มีราวกั้น ลักษณะเป็นวงรอบ ระยะทางยาว 850 เมตร ระหว่างเส้นทางเดิน จะมีศาลาที่พัก พร้อมป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ทรัพยากรมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับเข้าไปศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน และเป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจ


นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง และชมวิถีชีวิตชุมชนประมงโดยใช้เวลาไปกลับประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง โดยมีแหล่งที่น่าสนใจดังนี้

• ป่าโกงกางอายุมากกว่า 200 ปี

• ชุมชนมอแกน และชุมชนบ้านเกาะเหลา

• ชุมชนบ้านเกาะหาดทรายดำ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน

2.1 ป่าโกงกาง 200 ปี

บริเวณพื้นที่แกนกลางของพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง มีกลุ่มสังคมไม้โกงกางในพื้นที่ประมาณ 500 ไร่เป็นพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยลำคลองและทะเล ซึ่งมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ที่จัดเป็นป่าดั้งเดิม (primary forest) ที่ไม่เคยถูกรบกวนจากมนุษย์ ต้นโกงกางที่พบมีอายุประมาณ 200 ปี มีความสูงมากกว่า30 เมตร และมีขนาดเส้นรอบวงมากกว่า 2 เมตร ซึ่งเป็นต้นโกงกางที่มีขนาดใหญ่มาก


2.2 ชุมชนบ้านเกาะเหลา หรือบ้านเกาะเหลาใน

เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 230 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และทำกะปิ ซึ่งเป็นแหล่งทำกะปิขึ้นชื่อของจังหวัดระนอง

“กะปิเกาะเหลา” สินค้าโอท็อปขึ้นชื่อของจังหวัดระนอง

2.3 ชุมชนชาวมอแกน (บ้านเกาะเหลานอก หรือหมู่บ้านชาวเล)

เป็นชนกลุ่มน้อย ที่มีวัฒนธรรมและภาษาพูดของตัวเอง ในอดีตชาวมอแกนดำรงชีวิตในเรือ แต่ในปัจจุบันได้มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะเหลา โดยยังคงประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง ของส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง