"สผ. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา"
จัดทำและเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อตอบโจทย์การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล


"สผ. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา "

จัดทำและเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อตอบโจทย์การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล

เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๖ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และ ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) และบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Agreement: MOA) การจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ณ หอประชุมทวี หอมชง สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมี นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. ผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยบูรพา และ สผ. เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าว ประมาณ ๕๐ คน การลงนาม MOU และ MOA ระหว่าง สผ. และมหาวิทยาลัยบูรพา มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน การจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (TH-BIF*) ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลกลางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ให้ครอบคลุมและตอบโจทย์การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ซึ่งรวมถึงข้อมูลสิ่งมีชีวิตทางทะเลของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล และข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๑) โดยการเชื่อมต่อข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเติมเต็มให้เกิดความสมบูรณ์ของข้อมูลสิ่งมีชีวิตทางทะเล และเสริมบทบาทของ TH-BIF ที่เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และจากความร่วมมือดังกล่าว ส่งผลให้ สผ. มีการลงนาม MOU การจัดทำระบบคลังข้อมูลฯ กับหน่วยงานหลักที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ๒๑ หน่วยงาน จากเป้าหมายทั้งหมด ๓๒ หน่วยงาน ความร่วมมือในการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกัน ระหว่าง สผ. และมหาวิทยาลัยบูรพา ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความสมบูรณ์และความถูกต้องเป็นปัจจุบัน ของข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลแล้ว ยังเป็นการขยายผลการดำเนินงานในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะ ในพื้นที่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือพื้นที่อื่นที่มหาวิทยาลัยมีการดำเนินโครงการวิจัย
_________________

* ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (Thailand Biodiversity Information Facility: TH-BIF) พัฒนาขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มีการจัดเก็บข้อมูลพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย การใช้ประโยชน์ และสถานภาพตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มุ่งเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่มีภารกิจหลัก ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย และมีการจัดเก็บ รวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นระบบตามมาตรฐานสากล รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ ความถูกต้องของข้อมูล และการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ





❮ Previous Next ❯