ข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์


สองลูกเสือโคร่ง สัตว์ป่าของกลาง ปรับตัวดีขึ้น! กรมอุทยานฯ แจง “เขาไม่ใช่สัตว์เลี้ยง ยากจะกลับเข้าป่าอีก


   หลังจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียวรับมอบสัตว์ป่าของกลางทางคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสถานีตำรวจภูธรโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ได้ตรวจยึดจากผู้ลักลอบ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา
    ล่าสุดอาการของลูกเสือโคร่ง ซึ่งได้ตั้งชื่อว่า “ขิง” (ตัวผู้) และ “ข้าว” (ตัวเมีย) มีสุขภาพดีขึ้นและความคุ้นชินกับสถานที่ใหม่มากขึ้น  พร้อมกันนี้ได้ส่งมอบสัตว์ป่าของกลาง ลูกนกกก จำนวน 6 ตัว และลูกนกเงือกกรามช้าง จำนวน 2 ตัว รวม 10 ตัว ไว้ดูแลระหว่างคดีด้วย
    นายสมพงค์ บุญสนองหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว เปิดเผยว่า ช่วง 2-3 วันแรก อาการสัตว์ป่าของกลาง ลูกเสือสองตัวยังมีอาการเครียดเมื่อเข้าใกล้ แต่แข็งแรงหยอกล้อกันและโดดขึ้นเตียงที่พักได้ ยังไม่กินอาหารและนมเอง ใช้วิธีป้อนเนื้อหมูและเนื้อไก่ กินได้ตัวละประมาณ 100 กรัม ต่อมาทางศูนย์ฯ บึงฉวาก ได้ส่งมอบนม KMR และล่าสุดน้องๆ เริ่มกินหมูบดผสมนมKMR ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
    ส่วนลูกนกกก แข็งแรง บินขึ้นคอนสูง 1.50 เมตรได้ กินอาหารได้เอง มีบางตัวต้องป้อนให้ และลูกนกเงือกกรามช้าง แข็งแรง ใช้วิธีป้อนอาหารให้


    สัตว์ป่าของกลาง สัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยง
    กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหน้าที่ดูแลสัตว์ป่าของกลาง หลายครั้งพบว่าผู้เลี้ยงแอบนำสัตว์ป่าไปเลี้ยงเพราะเห็นว่าในตอนเล็ก ๆ นั้นดูน่ารัก แต่เมื่อโตขึ้นก็เลี้ยงไม่ไหว บ้างก็แอบเอาไปปล่อย ซึ่งสัตว์ป่าที่พบบ่อยครั้งนั่นก็คือ นาก  นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าของกลางที่เกิดจากการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ส่งผลให้สัตว์ป่าของกลางมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่พบอยู่ในสภาพบาดเจ็บ อ่อนแอ และเครียด บางครั้งส่งผลร้ายถึงขั้นเสียชีวิต
     สำหรับการดูสัตว์ป่าของกลาง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำส่งถึงสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า  หรือสถานที่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลสัตว์ป่าของกลางที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ  ทางคลินิกสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะนำสัตว์ป่าของกลางไปตรวจสุขภาพในเบื้องต้น หากเจ็บป่วยก็ต้องดูแลรักษาให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์  จากนั้นจึงนำส่งไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หรือศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าต่อไป
     สาเหตุที่มนุษย์นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงในบ้านมากขึ้น เพราะเห็นว่าสัตว์ป่าบางชนิดมีสีสันที่สวยงาม บางตัวมีเสียงร้องที่ไพเราะน่าฟัง บางตัวมีรูปร่าง ลักษณะที่น่าสนใจ แปลกตา สะสมของแปลก หรือเพราะความเชื่อผิดๆ ว่าสามารถเพิ่มเสริมสร้างบารมีได้ ทำให้มีการนำสัตว์ป่ามากักขังเลี้ยงไว้ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา สัตว์ป่าของกลางบางชนิดไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เมื่อไม่สามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตในป่าได้  ก็ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ถึงแม้เราจะมีเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์คอยดูแลรักษา แต่ถ้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอาจทำให้การดูแลเป็นไปด้วยความยากลำบาก อย่างไรก็ตามสัตว์ป่าไม่สมควรที่จะถูกนำเอามาเลี้ยงโดยเด็ดขาด
     แล้วทำไมเราถึงไม่ควรนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง เพราะการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  พ. ศ. 2562 นอกจากนี้อาจทำให้เกิดโรคติดต่อ ซึ่งจริงๆแล้วการเลี้ยงดูเป็นเรื่องที่ยาก  อาหารที่เรานำไปให้สัตว์ป่ากินนั้นหากไม่ใช่อาหารที่เหมาะสมกับเขาก็ยังนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพสัตว์ป่า รวมถึงสถานที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลให้สัตว์ป่าอยู่ในภาวะเครียด
    ที่สำคัญ ถึงแม้ว่าเราจะเลี้ยงสัตว์ป่ามาตั้งแต่เล็ก แต่เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์โดยสัญชาตญาณของสัตว์ป่าอาจจะมีพฤติกรรมที่ดุร้ายส่งผลต่อคนในครอบครัว  นอกจากนี้การนำสัตว์ป่า มาเลี้ยง ยังเป็นการแยกสัตว์ป่าออกจากระบบนิเวศ เพราะสัตว์ป่าในธรรมชาติล้วนมีบทบาทหน้าที่ในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศร่วมกัน จึงทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลไป
    เรามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ด้วยการไม่เลี้ยง ไม่ซื้อ ไม่ขายสัตว์ป่า ให้สัตว์ป่าได้อยู่ในที่ที่พวกเขาควรอยู่ นั่นก็คือ ป่า  ซึ่งเป็นบ้านของพวกเขา และหากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า แจ้งสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง


    ส่วนข้อสงสัยที่ว่าลูกเสือโคร่ง ลูกใคร จับมาจากป่าไหน?
    ทีมนักวิจัยเสือโคร่ง จากเพจเฟซบุ๊ค Thailand Tiger Project DNP ได้โพสต์ชี้แจงว่า
    หลายหลากข้อสงสัยที่ส่งเข้ามาถาม  เกี่ยวกับที่มาที่ไปของสองลูกเสือล่าสุด  แอดฯเองก็จนใจที่จะรู้ไปในทุกเรื่อง  เลยซอกแซกถามข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ต้องสงสัย  ที่ไม่ใช่ห้วยขาแข้งแน่ ก็ได้ความกระจ่างมาว่า ในช่วงที่ผ่านมาก็เจอเสือโคร่งแม่ลูก แต่คะเนแล้วลูกเสือพวกนั้นมีอายุมากกว่าเจ้าสองตัวของกลาง ส่วนเสือตัวเมียอื่นๆก็ไม่มีแววว่าจะตั้งท้องในช่วงเวลาที่สำรวจ  ความซอกแซกที่ได้มาคงทำให้สาวกเสือทั้งหลายคลายความกังวล ความห่วงใยต่อเสือโคร่งในธรรมชาติลงได้ พอประมาณ แล้วโปรดอย่ามาถามต่อว่า