หน่วยงานที่รับผิดชอบ


สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12


         
ประวัติความเป็นมา

ในอดีตการค้าขายและการสัญจรไปมาของประชาชนในประเทศไทย ใช้ลำน้ำเป็นหลัก ซึ่งแม่น้ำสายสำคัญในภาคเหนือของประเทศไทยคือ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่สำคัญของเทศ ปากน้ำโพในสมัยต้นกรุงรัตน โกสินทร์ถือว่า เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้า การค้าขาย และการคมนาคม ภายหลังจากเมื่ออังกฤษได้ครอบครองอินเดียและพม่า จึงได้รู้จักคุณค่าของไม้สักที่เป็นไม้คุณภาพดี มีราคา ได้มีการตัดฟันไม้สักจากประเทศอินเดียและพม่าไปจำหน่ายยังประเทศอังกฤษ ทำกำไรให้แก่พ่อค้าชาวอังกฤษเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศอินเดียและพม่า เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ต่อมาอังกฤษได้ทราบว่ามีป่าไม้สักขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และอุดมสมบูรณ์ในภาคเหนือของประเทศสยาม จึงต้องการเข้ามาทำไม้สักจากประเทศสยามไปค้าขายทำกำไรบ้าง โดยผู้ประสงค์จะทำไม้ต้องขออนุญาตจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน เสียก่อน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการอนุญาตซ้ำซ้อน มีกรณีพิพาทระหว่างผู้ขอทำไม้และเจ้าผู้ครองนครเจ้าของป่าอยู่เสมอ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง


ในปี พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการว่าด้วยการภาษีไม้ขอนสักและไม้กระยาเลย อันเป็นการวางรากฐานการจัดเก็บภาษีและควบคุมการทำไม้ให้เป็นระเบียบและมีรากฐานเดียวกัน ต่อมารัฐบาลสนใจที่จะเข้าควบคุมการทำไม้ให้รัดกุมยิ่งขึ้นและต้องการที่จะปรับปรุงสถานการณ์ป่าไม้ของสยามให้ดียิ่งขึ้น จึงได้ติดต่อกับรัฐบาลอินเดียของอังกฤษขอยืมตัวผู้เชี่ยวชาญด้านการป่าไม้มาช่วย และรัฐบาลอินเดียได้ส่ง มร.เอช เอ สเลด ชาวอังกฤษ ผู้เคยปฏิบัติงานอยู่ในกรมป่าไม้พม่า ซึ่มาดำเนินการสำรวจดูงานในท้องที่ต่างๆ ในภาคเหนือของสยามในขณะนั้น และจัดทำรายงานว่าการป่าไม้ทั้งหมดยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าผู้ครองนคร แทนที่จะอยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐบาล รวมทั้ง การทำไม้เท่าที่เป็นอยู่ยังไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ถูกต้อง และขาดหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองรักษาป่าไม้ให้อำนวยผลอย่างถาวร และได้เสนอแนะข้อแก้ไขปัญหาไว้หลายประการ โดยให้ทำการจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้น พร้อมทั้งออกพระราชบัญญัติป่าไม้มาเป็นเครื่องมือในการป้องกันรักษาป่าอย่างมีแบบแผน ตลอดจนการปรับปรุงสัญญาเงื่อนไขต่างๆ กับผู้ทำไม้ เพื่อเป็นการป้องกันการเสียเปรียบของรัฐบาลสยาม และประการสำคัญ ได้เสนอการจัดตั้งด่านเก็บภาษีไม้ในสถานที่ที่เหมาะสมหลายแห่ง เพื่อสะดวกในการเก็บเงินภาษีบำรุงรัฐบาลให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากข้อเสนอดังกล่าวนี้ กระทรวงมหาดไทยเห็นด้วยและสนับสนุนข้อเสนอแนะของ มร.เอช เอ สเลด ชาวอังกฤษ และทำรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมป่าไม้ขึ้นตามพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 62/385 ลงวันที่ 18 กันยายน ร.ศ.115 (พ.ศ.2439) จึงขออัญเชิญมาแสดงไว้โดยย่อเป็นบางตอนดังต่อไปนี้


“ถึงกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ด้วยจดหมายที่ 88/19337 ลงวันที่ 6 เดือนนี้ ส่งรายงาน มิสเตอร์สเลด ตรวจการป่าไม้มีความเห็นที่จะจัดการต่อไป มหาดไทยเห็นชอบด้วย ขออนุญาตจัดการนั้นได้ตรวจดูตลอดแล้ว เห็นว่าความคิด มิสเตอร์สเลด เป็นความถูกต้องดีแท้ทุกประการ เป็นอนุญาตให้จัดการตามที่ว่า...กรมป่าไม้นั้น เป็นที่ตกลงให้ตั้งบรรดาป่าไม้ทั้งปวง และด่านภาษีเมืองชัยนาทให้อยู่ในกระทรวงมหาดไทย” จึงอาจกล่าวได้ว่ากรมป่าไม้ได้กำเนิดขึ้นในวันที่ 18 กันยายน ร.ศ. 115 หรือ พ.ศ. 2439 และภายหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าให้มิสเตอร์ เอช เอ สเลด เป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรก มีที่ทำการกรมป่าไม้ที่จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2441 ได้ยุบด่านภาษีเมืองชัยนาทที่ตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435 มาตั้งตำบลโพตก อำเภอปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ และได้ตั้งที่ทำการป่าไม้ภาคมณฑลนครสวรรค์ขึ้นในปีเดียวกัน มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบ จังหวัดชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชรและตาก โดยมีนาย เอ ดับเบิลยู คูปเปอร์ เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ภาคมณฑลนครสวรรค์คนแรก ที่ทำการตั้งอยู่ที่เดียวกันกับด่านป่าไม้ปากน้ำโพ ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันตกของถนนพหลโยธิน เชิงสะพานเดชาติวงศ์ด้านเหนือ ซึ่งด่านป่าไม้ปากน้ำโพ มีมิสเตอร์ มอคเคอร์ มาดำรงตำแหน่ง นายด่านภาษีปากน้ำโพ ถึงปี พ.ศ. 2443 และย้ายไปเป็นผู้ช่วยส่วนตัวเจ้ากรมป่าไม้ แล้วแต่งตั้ง มิสเตอร์ พี เอ ฮอพพ์แมน มาดำรงตำแหน่ง นายด่านภาษีปากน้ำโพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449 เป็นคนต่อมาการปฏิบัติงานในระยะแรกงานของป่าไม้ภาคมณฑลนครสวรรค์ เน้นหนักไปในการจัดรูปแบบงานสร้างอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่การเก็บภาษีไม้ซุง ซึ่งผูกแพลอยมาตามลำน้ำ ปิง วัง ยม น่าน การตรวจสอบงานและสำรวจป่า การโต้ตอบและรายงานด่าน ซึ่งเน้นลักษณะงานการควบคุมการทำไม้ออกจากพื้นที่ป่า ในเขตท้องที่ภาคเหนือและในพื้นที่รับผิดชอบ ต่อมาทางราชการได้ยุบเลิกมณฑลเทศาภิบาลและป่าไม้ภาคมณฑลนครสวรรค์ ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 สมัยนายเฉลิม ศิริวรรณ ดำรงตำแหน่งป่าไม้เขตนครสวรรค์คนแรก ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ตัดถนนสายพหลโยธินจากกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2485 ขึ้นสู่ภาคเหนือและตัดผ่านจังหวัดนครสวรรค์ สร้างสะพานเดชาติวงศ์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เสร็จปี พ.ศ.2493 หลังจากนั้นด่านทางน้ำก็เริ่มลดความสำคัญลงตามลำดับและกลายเป็นด่านป่าไม้ทางบก สำหรับงานของสำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์นั้น ยังคงเป็นงานด้านการทำไม้จากสัมปทานของผู้รับสัมปทานภายในประเทศ งานสงวนและคุ้มครองป่า งานจัดการที่ดินป่าไม้ งานอนุญาตไม้สักและไม้ยางเพื่อการใช้สอยส่วนตัว งานปลูกและบำรุงป่า ซึ่งการปลูกสร้างสวนป่าไม้สักในท้องที่สำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์ขึ้นครั้งแรก


ในปี พ.ศ. 2505 ที่สวนป่าบ้านไร่ทรงธรรม จังหวัดกำแพงเพชร งานป้องกันรักษาป่า งานสำรวจพื้นที่เพื่อประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ต่อมา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2545 ได้มีพระราชกฤษฏีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มีผลทำให้กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบ่งภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้มาอยู่ในความควบคุมของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดส่วนราชการส่วนกลาง ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคของประเทศ จากสำนักงานป่าไม้เขต เป็นสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 1 – 21 โดยสำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์ เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 6 และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ในปัจจุบัน ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 19/47 ถนนโกสีย์ใต้ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือประมาณ 240 กิโลเมตร บริเวณด้านทิศตะวันออกของถนนสายเอเชีย เชิงสะพานเดชาติวงศ์ ด้านเหนือในปัจจุบัน


สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดอุทัยธานี ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้รับผิดชอบดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 2 เขต และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 3 เขต ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ
ที่มาของข้อมูล: https://portal.dnp.go.th/p/nakhonsawan

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง


ประวัติความเป็นมา

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในอดีตนั้นพื้นที่ป่าบริเวณนี้ (ปี พ.ศ.2498) บางส่วนมีการให้สัมปทานการทำไม้แก่บริษัทไม้อัดไทย แต่เนื่องจากรัฐบาลโดยกรมป่าไม้เห็นว่าพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนของห้วยขาแข้ง และห้วยทับเสลา มีสภาพป่าสมบูรณ์และสัตว์ป่าชุกชุม ประกอบกับเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าที่หายากหลายชนิด เช่น สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ ควายป่า ละองหรือละมั่ง และแมวลายหินอ่อน ควรจะรักษาพื้นที่ไว้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า นอกจากนี้พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยขาแข้งและห้วยเสลาตอนบน ยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการเกษตรและเศรษฐกิจด้านอื่นด้วย รัฐบาลจึงได้ดำเนินการผลักดันจนสามารถประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อ พ.ศ. 2515 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 201 และประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 89 ตอนที่ 132 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2515 เป็นแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ในขณะนั้นมีพื้นที่ รับผิดชอบประมาณ 1,019,379 ไร่ (1,631 ตารางกิโลเมตร) และได้มีการประกาศผนวกพื้นที่เพิ่มเติมในปี พ.ศ.2529 อีก 589,775 ไร่ ทำให้มีเนื้อที่เป็น 1,609,150 ไร่ (23,574.64 ตารางกิโลเมตร) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 103 ตอนที่ 87 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2529 และได้ผนวกพื้นที่ในส่วนตอนเหนือและฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2535 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ตำบลคอกควาย ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จากการที่ได้ผนวกพื้นที่เพิ่มเติม ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ติดกันที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของควายป่า สัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งของประเทศไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 ทำให้มีพื้นที่รวมในปัจจุบัน 1,737,587ไร่ (2,780 ตารางกิโลเมตร)

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา:30/12/2535



ที่มาของข้อมูล:http://paro12.dnp.go.th/paro12/index.php/2020-06-03-15-27-09/2020-06-06-06-44-50.html

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)


         
ประวัติความเป็นมา

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2445 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งซ้าย บนเนื้อที่แบ่งเป็น 2 แปลง เนื่องจากมีถนนค่ายหลวงตัดผ่าน รวมพื้นที่ทั้งหมด 9 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา การได้มาของที่ดินแปลง 1 ซื้อจากนางเหม เป็นเงิน 400 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2445 และแปลงที่ 2 ซื้อจากหลวงนารักษ์ เป็นเงิน 180 บาท เดิมเรียกว่า "ที่ทำการป่าไม้มณฑลราชบุรี" ต่อมาได้พัฒนาการไปตามการแบ่งส่วนราชการ เป็น ป่าไม้ภาคราชบุรี ที่ทำการป่าไม้เขตบ้านโป่ง และสำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่ง ตามลำดับ


ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทะบวง กรม พ.ศ. 2545 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่นที่ 119 ตอนที่ 99 ก ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2545 หมวดที่ 9 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีส่วนราชการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมี กฏกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2545 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2594 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผนดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกกฏกระทรวง ให้มีสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 1-21 โดยสำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่ง (เดิม) เป็นสำนักบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 5 มีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนบริหารจัดการป่าอนุรักษ์ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการหลักและนโยบายของกรม ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และจัดการพื้นที่ป่าไม้อนุรักษ์ในลักษณะงานสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า งานอุทยานแห่งชาติ งานอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร งานจัดการไฟป่า การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายในพื้นที่อนุรักษ์ สนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และงานด้านกิจกรรมชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย หลังจากนั้นได้เปลี่ยนการบริหารเป็น "สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในจังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้รับผิดชอบดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 3 เขต และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 4 เขต ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำค้างคาว-เขาช่องพราน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอุทยานสมเด็จพระศรีนครินทร์



ที่มาของข้อมูล: https://portal.dnp.go.th/p/BanPong

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก


ประวัติความเป็นมา

เริ่มตั้งแต่ปี 2508 โดยนายประเสริฐ อยู่สำราญ ดำรงตำแหน่งป่าไม้เขตบ้านโป่งในช่วงนั้น ได้ทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ให้ดำเนินการกำหนดพื้นที่ป่าแห่งหนึ่งในพื้นที่รับผิดชอบเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยด่วน เนื่องจากพื้นที่ป่าแห่งนี้ยังมีสัตว์ป่าชุกชุมมากและเป็นสัตว์ป่าที่มีคุณค่า แต่มีผู้ลักลอบเข้าไปล่าสัตว์เป็นประจำและนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนการล่ามากยิ่งขึ้น หากยังเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทางป่าไม้เขตจะไม่สามารถบริหารจัดการยับยั้งการล่าได้ จึงควรจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ไว้ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเข้มข้น กรมป่าไม้ได้ตอบสนองต่อข้อเสนอนี้โดยจัดให้นายผ่อง เล่งอี้ หัวหน้าฝ่ายจัดการสัตว์ป่า (ตำแหน่งในขณะนั้น) เข้าไปทำการสำรวจความเหมาะสมโดยมี ดร.แจ้ค โพเดน ร่วมเดินทางไปด้วยในปี พ.ศ. 2510 หลังจากสำรวจแล้วมีความคิดเห็นว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเสนอต่อกรมป่าไม้ว่าควรเร่งทำการอนุรักษ์พื้นที่นี้ในรูปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยด่วน


ในช่วงปี พ.ศ. 2515 กรมป่าไม้เห็นชอบและสั่งการอนุมัติให้เจ้าพนักงานออกไปสำรวจศึกษา และกำหนดแนวเขตพื้นที่พร้อมทั้งดำเนินการป้องกันการล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองในพื้นที่เท่าที่กฎหมายครอบคลุมถึงไปก่อน ในช่วงนี้มีคณะบุคคลกลุ่มใหญ่นำอาวุธ และเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการเข้าไปล่าสัตว์ในบริเวณป่าผืนนี้ จนเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ทำให้มีการสอบสวนและเป็นข่าวดังขึ้น ทำให้ป่าทุ่งใหญ่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโด่งดังไปในกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งในและนอกประเทศ

หลังเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าครั้งใหญ่การประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงถูกเร่งดำเนินการ จนในที่สุดพื้นที่บางส่วนของ อ.สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี และของ อ.อุ้มผาง จ. ตาก ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2517 มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,000,000 ไร่ (3,200 ตารางกิโลเมตร) โดยมีเหตุผลที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่า เนื่องจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเลียงผาและกระทิง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองที่หาได้ยาก อาศัยอยู่อีกด้วย ฉะนั้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย และรักษาไว้ซึ่งพันธุ์ของสัตว์ป่าอันมีค่ายิ่งของประเทศ ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีต้นน้ำลำธารที่ควรสงวนไว้เพื่อให้มีน้ำไหลหล่อเลี้ยงลำห้วยลำธารตลอดปี และเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาอุทกภัยอีกทางหนึ่งด้วย สมควรกำหนดที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น

ช่วงต้นปี พ.ศ. 2529 จนถึง พ.ศ. 2531 คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่งเป็นเขื่อนแบบหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 187 ม. สันเขื่อนยาว 430 ม. มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 142 ตร.กม. สามารถกักเก็บน้ำได้ 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร จะใช้เวลาก่อสร้าง 7 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2526 – 2532 มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงการรวม 12,592 ล้านบาท ที่ตั้งเขื่อนจะสร้างอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าสงวนแห่งชาติน้ำโจน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี การคัดค้านนี้เป็นการร่วมมือกันจัดกิจกรรมของประชาชนชาวกาญจนบุรี นักวิชาการ นักอนุรักษ์ นักเรียน นักศึกษา ในยุคนั้นถือว่าเป็นมิติใหม่ของการแสดงออกทางความคิดซึ่งนำด้วยข้อมูลและองค์ความรู้จากพื้นที่จริงๆ จนวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2531 คณะรัฐมนตรี มีมติระงับการก่อสร้าง เขื่อนน้ำโจนไว้ก่อน

12 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ได้ผนวกพื้นที่เพิ่มเติมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติน้ำโจน จำนวน 279,500 ไร่ และได้แยกส่วนในการบริหารจัดการออกเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ตั้งอยู่ในเขต อ.อุ้มผาง จ.ตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตั้งอยู่ในเขต อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี



ที่มาของข้อมูล: http://thungyaiwest.com/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2/

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก)


         
ประวัติความเป็นมา

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนราชการบริหารส่วนกลาง มีฐานะเทียบเท่ากอง สำนักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ที่ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมือง จังหวัดตาก มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 2 จังหวัด คือ ตาก และสุโขทัย


ปี พ.ศ. 2460 ได้ตั้งที่ทำการขึ้นเรียกว่าที่ทำการป่าไม้ภาคตาก ตั้งอยู่ริมแมน้ำปิง ที่บ้านหัวเดียด ตำบลหัวเดียด จังหวัดตาก มีพื้นที่ 30 ไร่ในสมัยนั้นกรมป่าไม้แบ่งการบริหารป่าไม้ออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนเหนือ ตอนตะวันออก และตอนใต้ แบ่งการควบคุมการป่าไม้ออกเป็น 17 ภาค หัวหน้ารับผิดมีตำแหน่งเป็น เจ้าพนักงานป่าไม้ภาค ที่ทำการป่าไม้ภาคตากรวมอยู่ในภาคเหนือมีเขตควบคุม 2 จังหวัด คือ จังหวัดตากและจังหวัดกำแพงเพชร

ปี พ.ศ. 2483 มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการบริหารราชการส่วนกลางของกรมป่าไม้ใหม่ โดยลดจำนวนป่าไม้ภาคเหลือ 11 ภาคป่าไม้ภาคตากได้ถูกยุบไปรวมกับป่าไม้ภาคพิษณุโลก

ปี พ.ศ. 2484 ได้มีกฤษฎีกาการจัดแบ่งส่วนราชการกรมป่าไม้ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2484ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2484 จัดแบ่งส่วนราชการของกรมป่าไม้อีกครั้งโดยกำหนดให้ตั้งส่วนราชการป่าไม้ภาคตากขึ้นใหม่ มีเขตควบคุม 3 จังหวัด คือ ตาก สุโขทัย และกำแพงเพชร และในขณะเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อป่าไม้ภาคทั่วประเทศเป็นป่าไม้เขต มีจำนวน 12 เขต หัวหน้ารับผิดชอบมีตำแหน่งเป็น เจ้าพนักงานป่าไม้เขต

ปี พ.ศ. 2495 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2495 อนุมัติกระทรวงเกษตรออกประกาศยุบป่าไม้เขตเดิม 12 เขต แล้วให้จัดตั้งป่าไม้เขตขึ้นใหม่จำนวน 21 เขต หัวหน้ามีตำแหน่งเป็น ป่าไม้เขต ป่าไม้เขตตากยังคงมีฐานะเป็นเขตอยู่ตามเดิม แต่ให้มีเขตควบคุมอยู่ 2 จังหวัด คือ ตาก และสุโขทัย และในปีเดียวกันได้ย้ายที่ทำการป่าไม้เขตไปก่อสร้างใหม่ที่ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก ข้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ด้านทิศเหนือ มีพื้นที่ 12 ไร่

ปี พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2506 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาภาคต่างๆ ขึ้นโดยเฉพาะภาคเหนือ มี ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการพัฒนา มีขอบเขตความรับผิดชอบรวม 16 จังหวัด ซึ่งมีจังหวัดตากรวมอยู่ด้วย คณะกรรมการชุดนี้เลือกเอาจังหวัดตาก เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาภาคเหนือ และย้ายที่ทำการป่าไม้เขตตากไปอยู่ที่ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมือง จังหวัดตาก ริมฝั่งแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับตัวเมืองตาก มีพื้นที่ 75 ไร่ ซึ่งเป็นที่ทำการสำนักงานป่าไม้เขตตากหรือสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 12 (ตาก) ในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2511 ได้เริ่มลงมือสร้างที่ทำการป่าไม้เขตตาก ณ พื้นที่ที่คณะกรรมการพัฒนาภาคเหนือกำหนดไว้ คือ ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมือง จังหวัดตาก ริมฝั่งแม่น้ำปิงเป็นอาคารตึก 2ชั้น โดยใช้งานงบประมาณปี 2511 ในวงเงิน 730,700.00 บาท (เจ็ดแสนสามหมื่นเจ็ดร้อยบาทถ้วน) การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2512 และเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2512 ฯพณฯ รัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดที่ทำการป่าไม้เขตตาก ซึ่งได้ใช้เป็นสำนักงานป่าไม้เจตตาก สังกัดกรมป่าไม้ กระทรวงเกษรและสหกรณ์

ปี พ.ศ. 2545 มีกฏกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2545 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 119 ตอนที่ 103 ก หน้าที่ 45 วันที่ 9 ตุลาคม 2545 เปลี่ยนชื่อสำนักงานป่าไม้เขตตาก เป็นสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 12 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546 หัวหน้ารับผิดชอบมีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนัก ต่อมา เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) จนถึงปัจจุบัน

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในจังหวัดตาก และจังหวัดสุโขทัย ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้รับผิดชอบดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 4 เขต ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม


ที่มาของข้อมูล: https://portal.dnp.go.th/p/Tak