ข้อมูลเฉพาะพื้นที่



เขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง


เขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ลักษณะภูมิประเทศ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย ประกอบด้วยสันเขาน้อยใหญ่หลายสันเรียงสลับซับซ้อนในแนวทิศเหนือ–ใต้ มียอดเขาสูงสุดอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ คือ ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง สูง 1,687 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพภูมิประเทศลาดเทไปทางตอนใต้ นอกจากนี้ยังมีภูเขาสูงอยู่อีกหลายลูก ได้แก่ เขาใหญ่ และขาเขียว อยู่ทางด้านตะวันออกของพื้นที่ เขาองเอี้ยง, เขากะเลีย, เขาองค์ทั่ง, เขากรึงไกร และเขาบันได อยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ ทำให้เป็นแหล่งต้นน้ำาลำธารของลำน้ำหลายสาย ที่สำคัญคือ ลำห้วยห้วยขาแข้ง อยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี จากทิศเหนือไปทิศใต้ลงสู่แม่น้ำาแม่กลอง มีความยาวของลำห้วยประมาณ 100 กิโลเมตร มีที่ราบไม่กว้างขวางมากนักริมสองฝั่งของลำห้วย ทางซีกตะวันตกของพื้นที่เป็นป่าทึบและภูเขาสลับซับซ้อน ก่อให้เกิดลำธารสั้นๆ หลายสายไหลลงห้วยขาแข้ง ทางซีกตะวันออกมีลำห้วยสำคัญหลายสาย ได้แก่ ลำห้วยไอ้เยาะ ที่มีต้นน้ำมาจากเขานางรำและเขาเขียว, ลำห้วยแม่ดีเกิดจากเทือกเขาน้ำเย็น ไหลลงสู่ลาห้วยขาแข้ง และลำห้วยทับเสลา หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมในท้องที่อำเภอลานสัก, อำเภอหนองฉาง, อำเภอหนองขาหย่าง และอำเภอห้วยคด จังหวัดอุทัยธานี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีลุ่มน้ าที่ส าคัญแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ ลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง ลุ่มน้ำห้วยทับเสลา, ลุ่มน้ำห้วยระบำ, ลุ่มน้ำห้วยสองทาง, ลุ่มน้ำห้วยองค์ทั่ง และลุ่มน้ำห้วยวิง

ลักษณะภูมิอากาศ

โดยสภาพรวมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอยู่ในแนวเชื่อมต่อระหว่างภูมิอากาศในแถบร้อน (Tropical climate) กับภูมิอากาศในแบบกึ่งร้อน (Subtropical climate) มีการแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนเมษายน โดยเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนมากที่สุด ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม แหล่งที่มาของฝนสู่พื้นที่จาก 3 แหล่ง คือ ฝนจาก ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนจากอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อน และฝนจากร่องความกดอากาศ และฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนมกราคม ช่วงที่มีอากาศหนาวจัดจะมีระยะเวลาสั้นมากไม่เกินครึ่งเดือน อยู่ระหว่างเดือนธันวาคม ถึงเดือนมกราคมเท่านั้น

ลักษณะธรณีวิทยา

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนวางตัวในแนวทิศเหนือ–ใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่มีธรณีสันฐานเป็นหินแกรนิต เนื้อสีขาวหรือสีจาง ปกคลุมพื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง ลุ่มน้ำห้วยทับเสลา และเทือกเขาเขียว–เขาใหญ่ พื้นที่ตอนเหนือตามแนวเทือกเขาปลายห้วยขาแข้งเป็นหินควอร์ตไซด์ ส่วนพื้นที่ด้านตะวันตก ด้านตะวันออกเฉียงใต้ และด้านใต้ เป็นแนวหินปูนเนื้อทราย–ทรายแป้ง (sandy and silty limestone) หินปูนเนื้อดิน (argillaceous) (รวมทั้งเทือกเขาหินแดงที่เป็นพื้นที่ศึกษาความหลากหลายของพรรณพืช) ซึ่งเกิดในยุคออร์โดวิเชียน (ordovician) เกิดขึ้นมา 505–438 ล้านปีมาแล้วสลับกับแนวหินดินดานกึ่งหินชนวน (slaty shale) และหินดินดานเนื้อปนทราย (sandy shale)

ทรัพยากรทางชีวภาพ
ทรัพยากรป่าไม้

กลุ่มงานวิชาการ (2546) รวบรวมข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 6 (นครสวรรค์) หรือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ในปัจจุบันกล่าวถึงสภาพป่าที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ป่าสำหรับข้อมูลการบรรยายสังคมพืชแต่ละชนิดได้นำผลการศึกษาของประหยัด (2528) และ Bunyavejchewin et al (2009) มาเขียนบรรยายเพิ่มความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้

1. ป่าดิบเขาระดับต่ำ (Lower Montane Forest) ครอบคลุมพื้นที่ 15 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด พบที่ระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ไม้เด่น เช่น ก่อในสามสกุลคือ Quercus, Castanopsis, Lithocarpus เป็นต้น พบในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน หรือยอดเขาสูงทางด้านเหนือ, ตะวันตก และตะวันออกของพื้นที่

2. ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด พบในหุบห้วยที่มักจะมีน้ำไหลตลอดปี หรือพบในพื้นที่ดินลึกในเขตที่ราบลุ่มใกล้ลำห้วย ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พบมากทางด้านตะวันออก (รอบเขาเขียว-เขาใหญ่ และหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์) และทางเหนือของพื้นที่ (ริมห้วยคลองพลู, หน่วยพิทักษ์ป่ากะปุกกะเปียง และหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยน้ำตื้น) พรรณไม้ที่สำคัญ เช่น ยางนา, ยางกล่อง, ตะเคียนทอง, กระบาก, หาด, กระทุ่ม ลำพูป่า,ข่อย เป็นต้น เรือนยอดป่าจะแน่นทึบด้วยพรรณไม้ชั้นรองและไม้วัยรุ่นของพรรณไม้ชั้นเรือนยอด พื้นป่าค่อนข้างรกทึบด้วยพรรณไม้พุ่มและไม้ล้มลุกที่ต้องการแสงน้อย และพบไม้พื้นล่างจำพวกไม้วงศ์ปาล์ม-หวาย,วงศ์ขิงข่า และวงศ์บอน อยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเถาวัลย์ขนาดใหญ่หลายชนิดอยู่เป็นจำนวนมาก

3. ป่าดงดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด พบกระจายอยู่ในระดับเดียวกันและพื้นที่บริเวณเดียวกับป่าดิบชื้น แต่ความชื้นในดินน้อยกว่าเช่นพื้นที่สูงขึ้นมาจากริมห้วย หรือพื้นที่เลยที่ราบลุ่มริมน้ำขึ้นมาเป็นพื้นที่ลาดชันมีการระบายน้ำได้ดีวงศ์ที่สำคัญที่พบ ได้แก่ วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae), วงศ์เปล้า (Euphorbiaceae), วงศ์ตาเสือ (Meliaceae) และวงศ์กระดังงา (Annonaceae), พรรณไม้ที่สำคัญ เช่น ยางแดง, สะเดาบัก, อาจพบยางนา, ตะเคียนทองขึ้นผสมบ้าง เป็นต้น พรรณไม้ชั้นรอง เช่น ยางโอน, ค้างคาว, กระเบากลัก, มะไฟ, สะทิบ, คอแลน เป็นต้น

4. ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด ขึ้นในระดับความสูง 200–600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นป่าผลัดใบ พบในพื้นที่แห้งแล้งดินตื้นเก็บความชื้นได้ไม่นาน หรือดินทรายจัด หรือดินที่มีหินผสมอยู่มาก พรรณไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง, รัง เหียง,พลวง, ยางกราด, ผักหวาน เป็นต้น ป่าเต็งรังจะผลัดใบในช่วงเดือนมกราคม–เดือนมีนาคม และออกใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายน ป่าชนิดนี้พบได้ทั่วไปสลับกับป่าผสมผลัดใบ ได้แก่ บริเวณเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาหินแดง, วงตีไก่, มอขรุขระ, หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี และหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก

5. ป่าผสมผลัดใบ หรือ ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) เป็นป่าที่พบเป็นบริเวณกว้างที่สุดของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 46 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด ขึ้นในระดับความสูงไม่เกิน 950 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นป่าผลัดใบ โดยจะทิ้งใบในช่วงเดือนธันวาคม และออกใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายน พรรณไม้เด่นวงศ์ที่สำคัญ คือ วงศ์ถั่ว (Leguminosae),วงศ์สมอ (Combretaceae) และวงศ์ตะแบก (Lythraceae) เช่น เสลา, ตะแบกเกรียบ, มะค่าโมง, แดง,ตะคร้อ, สมอพิเภก, อินทนิลบก, สมพง, คูน, ไผ่ป่า, ไผ่ซาง, ไผ่รวก, ไผ่บงใหญ่ เป็นต้น ป่าผสมผลัดใบ หรือป่าเบญจพรรณ พบปรากฏอยู่ทั่วไป แต่จะพบจำนวนมากบริเวณตอนกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และ ตอนใต้ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ทรัพยากรสัตว์ป่า

1. สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม จากการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบทั้งหมด 164 ชนิดเช่น ชะนีมือขาว, ลิงวอก, หมาใน, หมาจิ้งจอก, หมูป่า, หมาไม้, หมูหริ่ง, ละองหรือละมั่ง, สมเสร็จ, หมีควาย, ชะมดแผงหางปล้อง, กวาง เป็นต้น

2. สัตว์จำพวกนก จากการสำรวจนก พบทั้งหมด 407 ชนิด เช่น เหยี่ยวรุ้ง, เหยี่ยวทุ่ง, นกเค้าเหยี่ยว, นกเค้ากู่, นกเงือกกรามช้าง, นกเงือกคอแดง, นกแก๊ก, นกกก, นกหัวขวาน, นกเด้าดิน, นกเด้าลม,นกอีวาบตั๊กแตน, นกยูง เป็นต้น

3. สัตว์จำพวกเลื้อยคลาน จากการส ารวจสัตว์เลื้อยคลาน พบทั้งหมด 97 ชนิด เช่น ตุ๊กแกบ้าน, จิ้งเหลนภูเขาอินเดีย, จิ้งเหลนดินจุดดำ, จิ้งเหลนห้วยท้องแดง, แย้, กิ้งก่าเขาหนามยาว, เต่าหก, งูเหลือม เป็นต้น

4. สัตว์จำพวกสะเทินน้ำสะเทินบก จากการสำรวจสัตว์สะเทินบกสะเทินน้ำ พบทั้งหมด 46 ชนิด เช่น จงโคร่ง, กบทูต, กบหนอง, คางคกแคระ คางคกบ้าน, ปาดแคระ, อึ่งอ่างบ้าน, อึ่งขาคำ เป็นต้น

ความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืช
ป่าเบญจพรรณ (Mixed deciduous forest)

เป็นสังคมพืชที่ประกอบไปด้วยพรรณพืชที่ผลัดใบหรือทิ้งใบเป็นองค์ประกอบสำคัญ การผลัดเปลี่ยนใบจะใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง พรรณไม้จะผลัดใบมาก เป็นเหตุให้พรรณไม้มีวงปีในเนื้อไม้หลายชนิด เช่น สัก แดง, ประดู่, มะค่าโมง,พะยูง, ชิงชัน, พฤกษ์, ถ่อน, ตะเคียนหนู, หนามกราย, รกฟ้า, ขะเจาะ, พี้จั่น เป็นต้น

ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ป่าชนิดนี้ครอบคลุมพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ปัจจัยกำหนดที่สำคัญได้แก่ ความลึกของดิน, ช่วงความแห้งแล้งและระดับความสูงจากน้ำทะเล ลักษณะหลักในการจำแนกได้แก่ การผลัดใบเพื่อลดการคายน้ำในช่วงที่น้ำในดินขาดแคลนในฤดูแล้ง คือพรรณไม้เกือบทั้งหมดในสังคม จะทิ้งใบในช่วงเดือนธันวาคม และผลิตใบใหม่ในเดือนเมษายน การจำแนกออกจากป่าในกลุ่มผลัดใบด้วยกันอาศัยโครงสร้างของสังคม โดยเฉพาะในด้านองค์ประกอบของชนิดพรรณไม้ คือไม้เด่นในชั้นเรือนยอดจะไม่มีไม้ผลัดใบในวงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) ปรากฏอยู่ และที่สำคัญจะมีไม้ไผ่ขึ้นผสมอยู่ด้วย เนื่องจากความแห้งแล้งและใบที่ร่วงลงมา ป่าชนิดนี้จึงมักเกิดไฟป่าทุกปี

ไม้สำคัญในเรือนยอดบนสุด ได้แก่ มะค่าโมง (Afzelia xylocarpa), สมพง (Tetramelesnudiflora), เสลาขาว (Lagerstroemia tomentosa), สมอพิเภก (Terminalia bellirica), ตะเคียนหนู(Anogeissus acuminata), ขี้อาย (Ter. nigrovenulosa), ตะคร้ำ (Garuga pinnata), พะยอม (Shorearoxburghii), ประดู่ (Pterocarpus macrocarpus), เลี่ยน (Melia azedarach), กะหนานปลิง (Pterospermum acerifolium) เป็นต้น

ไม้ชั้นรองของป่าชนิดนี้ ได้แก่ อินทนิลบก (Lagerstroemia macrocarpa), มะเฟืองช้าง(Lepisanthes tetraphylla), ก้านเหลือง (Nauclea orientalis), สำโรง (Sterculia foetida), ราชพฤกษ์ (Cassia fistula), เสี้ยวดอกขาว (Buahinia variegata) และมีไม้ไผ่ขึ้นผสมอยู่หลายชนิดในชั้นนี้ เช่น ไผ่ป่า (Bambusa bambos), ไผ่บง (Bam. nutans), ไผ่ซาง (Dendrocalamus strictus), ไผ่ไร่ (Gigantochloaalbociliata), ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis) และไผ่ข้าวหลาม (Cephalostachyum pergracile)

ป่าดิบแล้ง (Dry evergreen forest)

เป็นสังคมป่าประเภทไม่ผลัดใบที่พบได้ในบริเวณที่มีเนื้อดินทรายร่วน และดินร่วนปนทราย มีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 4.8–6.3 ซึ่งป่าดิบแล้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะมีลักษณะโครงสร้างที่ค่อนข้างแตกต่างกันไปจากป่าดิบแล้งที่มีปรากฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทั่วไป คือ มีลักษณะค่อนข้างคล้ายป่าดิบชื้นในระดับสูง แต่มีไม้ผลัดใบผสมอยู่ในอัตราค่อนข้างมากเช่นกัน

นอกเหนือจํากไม้ที่ใช้เป็นตัวจำแนกสังคมป่าดิบแล้ง ไม้อื่นๆ ที่ปรากฏผสมอยู่ในชั้นเรือนยอดได้แก่ ยมหอม, ยมหิน, อบเชย, พญารากดำ (Diospyros ruba), พะวา (Garcinia speciosa), คำแสด (Mallotus philippensis), จันทน์ป่า (Myristica cinamomea), กระบก (Irvingia malayana), สัตตบรรณ( Alstonia scholaris), ตาเสือใบเล็ก (Aglaia spectabilis), ตาเสือ (Aphanamixis polystachya), เลือดควาย (Knema erratica), พลองดง (Tarenna sp.) เป็นต้น ไม้ผลัดใบที่เข้ามาผสมในป่าชนิดนี้ เช่น มะค่าโมง (Afzelia xylocarpa), ทองหลางป่า (Erythrina subumbrans), ตะแบกแดง (Lag. calyculata), ประดู่ (Pterocarpus macrocarpus), ตะคร้อ (Schleichera oleosa), ชิงชัน (Dalbergia oliveri), เสลาขาว (Lag. tomentosa), กระพี้จั่น (Millettia brandisiana), สมพง (Tetrameles nudiflora), ปออีเก้ง (Pterocymbium tinctorium) เป็นต้น

ไม้ชั้นรองและไม้พุ่มในป่านี้ที่ปรากฏมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน นอกเหนือจากที่กล่าวแล้วข้างต้นได้แก่ พลับพลา (Microcos tomentosa), กะหนานปลิง (Pterospermum acerifolium), แคทราย(Stereospermum neuranthum), หมีเหม็น (Litsea glutinosa), โมกใหญ่ (Holarrhena pubescens), มะเม่าดง (Antidesma bunius), มะหวด (Lepisanthes rubiginosa) เป็นต้น ส่วนบริเวณลำห้วยอาจพบชมพู่นก (Syzygium formosum), ส้านช้าง (Dillenia pentagyna), มะเดื่อปล้อง (Ficus hispida) และไม้ริมน้ำชนิดอื่นๆ ผสมอยู่มาก

ในบริเวณที่โล่งอันเนื่องมากจากไม้ล้มจะพบกล้วยป่า (Musa acuminata subsp.acuminata) ขึ้นอยู่หนาแน่นผสมกับหญ้าและเฟิร์น โดยเฉพาะหญ้ายายเภา บริเวณห้วยชิดขอบน้ำจะมีผักกูด, ผักหนาม (Lasia spinosa) และไคร้น้ำ (Homonia riparia) ขึ้นค่อนข้างหนาแน่นเถาวัลย์ขนาดใหญ่ที่ปรากฏ ได้แก่ สะบ้ามอญ (Entada rheedii), สะบ้าลิง (Entada glandulosa), เครืองูเห่า (Toddalia asiatica), เครือเขาดำ (Cascuta reflexa) และหมาหมุ้ยใหญ่ (Mucuna monosperma) เป็นต้น