ข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
เส้นทางช้างป่า..เสียงเพรียกหา...ความผูกพัน
เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดอุทัยธานี และมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย และเป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เริ่มจากการนำภาพการหยุดพักนอนของช้างโขลงในจีนที่ถูกแชร์ต่อๆกันมาในเฟซบุ๊กเป็นภาพลูกช้างนอนตะแคงกองทับกัน ในเขตอนุรักษ์ของมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน ถ่ายจากมุมสูงด้วยโดรน ซึ่งเห็นภาพนี้แล้ว เดาเอาว่าบรรดาลูกช้างเหล่านี้น่าจะเหนื่อยล้าจากการเดินทางเต็มที
การเดินทางไกลขึ้นเหนือกว่า 500 กม. จนไปถึงแถวๆ จินหนิง ริมเขื่อนใหญ่ทางใต้ของคุนหมิง มองให้ลึกเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ เพราะพวกมันอาจไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางและอาจต้องจบชีวิตลงที่เขื่อนยักษ์
รศ.นริศ ภูมิภาคพันธุ์ แห่งคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งมีประสบการณ์เดินทางไปดูงานในพื้นที่อนุรักษ์ Mengyang Nature Reserve ซึ่งเป็นพื้นที่ของเขตอนุรักษ์นี้ เป็นภูเขาสูง มีป่า เบญจพรรณ ป่าไผ่ปกคลุม ในหน้าแล้งจะแห้งแล้งจัด ร้อนแล้งขนาดไหน จินตนาการเองว่าร้อนกว่าเชียงใหม่ บวกห้วยขาแข้งตอนกลางเดือนมีนาคม
พื้นที่ดังกล่าวยังมีช้างป่าและเป็นถิ่นฐานของช้างป่าฝูงที่กำลังโด่งดังในภาพนี้ เล่าถึงการเดินทางไกลของช้างป่าที่ยูนนานว่า ช้างฝูงนี้ออกเดินทางกันมาตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้ว และแม้จะขึ้นเหนือ แต่พวกมันก็ไม่ได้เดินมั่วๆ สะเปะสะปะ เพราะสภาพภูมิประเทศของยูนนานมีแต่ภูเขาสูงตระหง่าน พล็อตตามตำแหน่งเส้นทางที่ช้างเดิน ก็พบว่าเลาะไปในหุบลำน้ำใหญ่ ซึ่งก็คือลำน้ำโขง เจ้าหน้าที่ทางการจีนที่ติดตามก็บอกไม่ได้ชัดว่าพวกมันกำลังจะเดินไปไหน และไปทำไม
ช้างป่าเหล่านี้กระจายอยู่เป็นโขลงขนาดเล็ก หลบตามหย่อมป่าที่ราบนอกพื้นที่คุ้มครองซึ่งมีแหล่งน้ำและอาหาร แต่สภาพพื้นที่ราบก็ถูกชาวบ้านเข้ามาทำเกษตร และตั้งถิ่นฐานจนหมดสิ้นแล้ว สภาพช้างป่าที่ยูนนานคล้ายกับช้างป่าในประเทศไทย คงอยู่อย่างยากลำบาก เพราะถูกมนุษย์เอาเปรียบมากๆ
ในปี 1976 มีพื้นป่าสำหรับช้างป่า 2,084 ตร.กม. การประเมินประชากรช้างป่าในจีน เมื่อปี 1980 พบช้าง 170 ตัว แต่ในปัจจุบัน ในปี 2021 ซึ่งสภาพพื้นที่มีเหลือเฉพาะเขตภูเขา เพียง 500 ตร.กม. สำหรับช้างป่า 300 ตัว” รศ.นริศบอกและว่า สภาพการณ์เช่นนี้ ไม่น่าประหลาดใจที่ช้างจะพาฝูงและลูกเล็กออกเดินทางไกลขึ้นเหนือ แต่ที่น่าเศร้าคือ เส้นทางที่กำลังมุ่งหน้าไปนั้นพวกมันหารู้ไม่ว่าจะไปสิ้นสุดลงที่เขื่อน
ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพแนวสัตว์ป่าและธรรมชาติชั้นครู เจ้าของรางวัล Explorer Awards 2019 นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เคยพูดถึงการเดินทางของช้างป่าว่า ไม่ใช่ช้างโขลงแห่งยูนนานเท่านั้นที่รอนแรมขึ้นเหนือ หลายสิบปีมาแล้วช้างจากป่าเขาอ่างฤาไน ก็พยายามหาทางกลับมาเยี่ยมญาติที่เขาใหญ่
เรื่องนี้ไม่ใช่ตำนานลึกลับ หากเป็นวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการติดตามศึกษาวิจัยย้อนกลับไปถึงพฤติกรรม และความพยายามจะเดินออกจากป่ารอยต่อห้าจังหวัด ที่คนชอบคิดว่าจะออกมาทำไม ช้างมันควรอยู่ในป่าสิ งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2019 ในชื่อยาวๆว่า Quantifying landscape connectivity for wild Asian elephant populations among fragmented habitats in Thailand แปลเล่นๆว่า การเชื่อมต่อถิ่นอาศัยที่แตกเป็นชิ้นๆในประเทศไทยเพื่อรองรับประชากรช้างป่า โดย ดร.วรงค์ สุขเสวต, รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค และ อิงอร ไชยเยศ มีข้อความระบุชัดว่า “ความจริง ช้างอ่างฤาไนเดินมาถึงเขาใหญ่แล้ว แต่คนไปไล่มันกลับ....” รศ.ประทีป ด้วงแค อธิบายให้ฟังชัดๆว่า พวกช้างป่าออกเดินไปมาหาสู่กันตามแรงผลักของสัญชาตญาณ และป่าอ่างฤาไนกับเขาใหญ่ดงพญาเย็นนั้น ก็เชื่อมถึงกันมาก่อนด้วยป่าบนที่ราบ ถ้าวัดระยะทางจากดาวเทียม จากเขาอ่างฤาไน ขึ้นเหนือไปยังกลุ่มป่าดงพญาเย็นที่กินยาวมาทางตะวันออก เขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา ระยะทางก็แค่ 60 กม.เท่านั้น ข้ามจังหวัดฉะเชิงเทรา เฉียดสระแก้วปราจีนบุรี เดินสองสามวันก็ถึงแล้ว ระยะทางแค่นี้ไม่น่าจะพอกับแรงผลักของความคิดถึง ระดับช้าง
แต่ปัญหาคือ ผืนป่าในที่ราบเหล่านั้นเพิ่งจะขาดจากกัน กลายสภาพมาเป็นไร่มัน บ้านคน และ ทางหลวงเมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง ไม่ได้นานเป็นแสนเป็นล้านปี “เวลาแค่นั้น สำหรับช้าง มันแค่ชั่วไม่ถึงสองรุ่น ปู่เรายังเคยพาพ่อเดินไปหากันอยู่เลย พอรุ่นพ่อจะพาลูกไปเดินหาญาติเหมือนที่เคยไป คราวนี้เขาไม่ยอมให้เราไป...”
ในทางวิชาการ การเดินทางไกลๆเป็นแรงผลักของธรรมชาติที่จะทำให้สายพันธุ์เข้มแข็ง ถ้าพวกช้างไม่ออกเดินทางก็จะเกิดภาวะเลือดชิด สายพันธุ์ก็จะอ่อนแอ เพราะผสมกันเองในฝูง ต้องออกไปหาบ้านเพิ่ม ไปเติมความหลากหลาย การไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนกันจึงเป็นเรื่องปกติที่จำเป็น ช้างอยู่ในที่ราบมาโดยตลอด อย่างน้อยในสมัย ร.5 ที่ช้างจากเขาใหญ่ยังมาถึงทุ่งรังสิต คนที่เรียนด้านสัตว์ป่าทุกคนรู้ แต่มนุษย์เราผลักช้างให้ขึ้นไปอยู่บนเขา พอมันจะลงมา ก็ไล่ ช้างก็พยายามจะลงให้ได้ เราก็คอยตั้งหน้าตั้งตาไล่ และสถานการณ์เช่นนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะทวีความเข้มข้นขึ้น หากไม่มีการค้นหาความจริงว่าทำไม แล้วมีทางออกที่ดีทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร ถ้ามีใครสักคนถามว่า ทำไมเมื่อก่อนไม่เห็นออกมา คำตอบก็เห็นได้ชัดๆว่า สมัยก่อนนั้น ถ้าช้างออกมาเมื่อไหร่เป็นถูกยิงตายเมื่อนั้นเลยไม่มีใครรอดออกมาได้