ข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
พญาแร้ง...คืนฟ้าไทย หลายปีก่อน พญาแร้ง 35 ตัวจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

น.สพ.เกษตร สุเตชะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้...แร้ง หรืออีแร้งในบ้านเรา เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจึงได้ฉายาว่าพญาแร้ง อยู่ในกลุ่มนกล่าเหยื่อเช่นเดียวกับเหยี่ยว, อินทรี หรือนกเค้าแมว มีขนาดลำตัวประมาณ 80 ซม. เมื่อโตเต็มที่ หัว คอ และเท้ามีสีแดง ขนตามลำตัวสีดำ ขนที่หน้าอกและโคนขามีสีขาว ที่คอมีสีขาวขึ้นโดยรอบมองดูคล้ายสวมพวงมาลัย ทั้งสองเพศลักษณะคล้ายกันมาก ต่างกันตรงที่เพศผู้มีม่านตาสีเหลือง ส่วนเพศเมียจะมีม่านตาสีดำไปจนถึงสีแดง
พญาแร้งชอบกินซากสัตว์เน่าตายตามพื้นดิน โดยร่อนบินหาเหยื่อกลางอากาศ เมื่อพบจึงบินลงมาจิกกิน ไม่ค่อยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ หากินอยู่ตามที่โล่งแจ้ง โดยบินร่อนเป็นวงกลมบนท้องฟ้าระดับสูง มีสายตาไว สามารถร่อนกลางอากาศอยู่นานนับชั่วโมงโดยไม่ต้องกระพือปีกด้วยซ้ำ อดอาหารได้เก่ง บางครั้งนานเป็นสัปดาห์ แต่พอได้กินมักจะกินตุนไว้มากๆ บางครั้งบินไม่ขึ้น ต้องยืนนิ่งเกาะกิ่งไม้เพื่อย่อยอาหาร
จนเกิดเป็นคำเปรียบเปรย...“แร้งลง” กินมากจนไปไม่ไหว
พญาแร้งผสมพันธุ์ในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน วางไข่ครั้งละ 1 ฟองเท่านั้น ทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างช่วยกันฟักไข่ และใช้รังเดิมวางไข่ในปีถัดไป เป็นที่น่ายินดี องค์การสวนสัตว์ฯ โดยสวนสัตว์นครราชสีมา ได้เพาะพันธุ์พญาแร้งในกรงเลี้ยงได้สำเร็จ เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ...หวังว่าเราจะได้เห็นพญาแร้งโบยบินบนท้องฟ้าไทยอีกครั้ง.