ข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
กระทิงทับวัวแดง ลูกเป็น‘กระทิงแดง’ เจอในป่าหลายแห่ง
ฮือฮา “กระทิงป่า-วัวแดง” สมสู่ข้ามสายพันธุ์กัน ออกลูกออกหลานมาเป็นสัตว์ชนิดใหม่ในพื้นที่ 3 อุทยานฯ “กุยบุรี-เขาอ่างฤาไน-ห้วยขาแข้ง” อธิบดีกรมป่าไม้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระทิงและวัวแดง เผยไม่เคยเจอมาก่อนและยังไม่รู้จะตั้งชื่อว่าอะไร ขอเรียก “กระทิงแดง” ไปก่อน ด้านอธิบดีกรมอุทยานฯสั่งจับตาหวั่นกระทบระบบนิเวศ
เรื่องราวของสัตว์โลกผู้น่ารัก ที่จับคู่ผสมพันธุ์กัน จนเกิดเป็นสัตว์ชนิดใหม่ครั้งนี้ เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. โดยนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกระทิงและวัวแดง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากพื้นที่ป่า ที่มีกระทิงและวัวแดงอาศัยอยู่ เช่น ป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ว่า ขณะนี้มีการผสมพันธุ์ระหว่างสัตว์ 2 ชนิด แต่อยู่ในสกุลและวงศ์เดียวกันคือ กระทิงกับวัวแดงมาผสม พันธุ์กัน โดยกระทิงตัวผู้ผสมพันธุ์กับวัวแดงตัวเมีย จนตั้งท้องคลอดลูกออกมาเป็นตัวเมีย มีลักษณะรูปร่างออกไปทางกระทิง และเดินตามฝูงกระทิงไปหากินตามที่ต่างๆ
นายธีรภัทรกล่าวอีกว่า ต่อมาลูกกระทิงที่มาผสมพันธุ์กับวัวแดงตัวดังกล่าว ไปผสมพันธุ์กับวัวแดงอีก คลอดลูกออกมาในรุ่นที่ 2 ขณะนี้อายุได้ประมาณปีเศษ ลักษณะที่พบคือ ลำตัวจะมีขนาดเล็กกว่ากระทิง และมีสีไม่เข้มแบบกระทิง ไม่ออกสีแดงแบบวัวแดง ยังไม่รู้ว่าเป็นเพศไหน แต่ที่น่าแปลกใจคือ ส่วนใหญ่เมื่อสัตว์ต่างชนิดมาผสมพันธุ์กัน เช่น ลากับม้า หรือเสือกับสิงโต ลูกออกมาจะกลายเป็นหมัน และมีลักษณะที่ไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก แต่ในการผสมพันธุ์กันระหว่างกระทิงกับวัวแดง ลูกที่ออกมามีความเด่นของกระทิงคือ ข้อเท้าขาวคล้ายใส่ถุงเท้า และไม่มีอาการเป็นหมัน ที่สำคัญยังสามารถสืบพันธุ์ต่อได้อีก ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไม่เคยพบการผสมพันธุ์ในลักษณะนี้มาก่อนว่า กระทิงกับวัวแดงจะมาผสมพันธุ์กันได้ เคยพบแต่กระทิงผสมกับวัวบ้านที่ชาวบ้านเลี้ยงเอาไว้ชายป่า บริเวณที่มีกระทิงอาศัยอยู่ แต่โดยธรรมชาติของกระทิงกับวัวแดงนั้น เป็นสัตว์ที่อยู่คนละพื้นที่กันคือ กระทิงจะอยู่รวมกันเป็นฝูงอาศัยอยู่บนที่สูง แต่วัวแดงจะอาศัยอยู่ในที่ราบ ต่อมาวัวแดงถูกล่ามากขึ้นและมีจำนวนน้อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอุทยานฯกุยบุรี วัวแดงจึงเข้าไปหากินร่วมกับฝูงกระทิง ในธรรมชาติแล้ว ไม่ค่อยจะเห็นได้มากนัก ยิ่งสัตว์ 2 ชนิดมาผสมพันธุ์กันจนได้ลูกออกมาถือเป็นเรื่องแปลกมาก ในธรรมชาติสัตว์ชนิดเดียวกันจะมีธรรมชาติคอยกีดกันไม่ให้ผสมพันธุ์กันได้อยู่แล้ว เช่น อยู่กันคนละพื้นที่ ไม่มีโอกาสได้เจอกัน อารมณ์ในการผสมพันธุ์อยู่คนละ ช่วงเวลา หรือลักษณะของอวัยวะเพศไม่สมดุลกัน ทำให้ไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นกรณีที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้เคยมีแค่ วัวแดงผสมกับวัวบ้าน หรือกระทิงผสมกับวัวบ้านเท่านั้น
ขณะที่นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การผสมข้ามชนิดพันธุ์แบบนี้ไม่เกิดบ่อยนัก และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯกุยบุรีเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เป็นสัตว์ที่มีโครโมโซมใกล้ชิดกันมาก ที่ผ่านมามีรายงานจากประเทศมาเลเซีย ว่า เคยมีโครงการการผสมพันธุ์ระหว่างกระทิงกับวัวบ้านออกมาแล้ว พบว่าลูกที่ออกมานั้นค่อนข้างจะมีปัญหาสุขภาพ คือมีระบบสืบพันธุ์ที่อ่อนแอ ด้านนายประวัติศาสตร์ จันทรเทพ หัวหน้าอุทยานฯกุยบุรี กล่าวว่า อุทยานฯกุยบุรีมีวัวแดงอาศัย และหากินร่วมกับฝูงกระทิงประมาณ 3-4 ตัว จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ กระทิงและวัวแดงแยกกันหากิน เพราะอยู่กันคนละพื้นที่ แม้ว่าทั้งกระทิงและวัวแดง จะเป็นสัตว์คนละชนิดกัน แต่ก็มีความคล้ายกันหลายอย่าง เมื่อมาอยู่ใกล้ชิดกันก็มีโอกาสที่จะผสมพันธุ์กันได้ ทั้งนี้ เมื่อสอบถามไปยังอุทยานฯอื่นๆ ก็พบว่า กระทิงและวัวแดงในพื้นที่อื่นๆ คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ก็มีการผสมพันธุ์กันในลักษณะเดียวกัน โดยขณะนี้อธิบดีกรมอุทยานฯได้สั่งการให้จับตาดูว่าจะมีผลต่อระบบนิเวศในพื้นที่หรือไม่