ความเป็นมา


ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชินี (สถานตากอากาศบางปู)


ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชินี (สถานตากอากาศบางปู)

สถานตากอากาศบางปู จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2480 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ดำริให้สร้างเป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชนทั่วไปเนื่องด้วยติดทะเลและไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีการสร้างสะพานยื่นออกไปในทะเล ชื่อว่า “สะพานสุขตา” ต่อมาสถานตากอากาศนี้ได้อยู่ในความดูแลของกองทัพบก และมีการปรับปรุงและเปลี่ยนชื่ออาคารเป็น “ศาลาสุขใจ” ภายในมีร้านอาหาร ลานลีลาศ ให้บริการ นอกจากนี้ ยังมีที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย จุดเด่นของสถานที่นี้คือ สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศทางชายทะเลด้านอ่าวไทยที่มีชื่อเสียง มีธรรมชาติอันสมบูรณ์ มีเส้นทางธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีธาตุอาหารอันอุดมสมบูรณ์สะสมอยู่ตลอดแนวหาดโคลน ถัดเข้าไปในด้านในของพื้นที่เป็นดงแสม ที่ขึ้นอยู่ในบ่อกุ้งร้างระดับน้ำไม่ลึก สภาพเช่นนี้เอื้อต่อนกน้ำนานาชนิด เป็นแหล่งสร้างรังของนกกาน้ำเล็ก รวมถึงนกยางหลายชนิด และในฤดูหนาว ช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน – ปลายเดือนเมษายนของทุกปี จะเป็นที่หยุดพักหาอาหารของนกนางนวลอพยพหนีหนาวจากไซบีเรียมาอาศัยและมาหากินอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของบางปูอย่างหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาให้อาหารนกนางนวล และถ่ายภาพเก็บบรรยากาศที่สวยงามยามพระอาทิตย์ตก รวมถึงยังเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนที่สำคัญ

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (สถานตากอากาศบางปู) ตั้งอยู่ภายในบริเวณกองอำนวยการสถานพักผ่อน (สถานตากอากาศบางปู) กรมพลาธิการทหารบก จัดตั้งขึ้น ปี พ.ศ. 2548 ด้วยความร่วมมือของกองทัพบก และ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ประเทศไทย) WWF Thailand สนับสนุนโดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติที่ให้บริการด้านการศึกษาธรรมชาติแก่นักเรียน และผู้มาเยี่ยมชมพื้นที่ โดยให้บริการด้านการศึกษาแก่โรงเรียน และสถานศึกษาต่าง ๆ ซึ่งใช้พื้นที่ป่าชายเลนเป็นห้องเรียนธรรมชาติ และให้บริการแก่ผู้มาทำประโยชน์เพื่อสังคม นักดูนกทั้งในประเทศและต่างประเทศ นักถ่ายภาพธรรมชาติ และการศึกษาดูงานจากหน่วยงานจากภาครัฐ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วไปที่มาดูนกนางนวลธรรมดาอันเป็นสัญลักษณ์ของสถานตากอากาศบางปู





การบริหารจัดการของศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ

• การปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นแหล่งพักอาศัยของนกอพยพ : การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำเค็มเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยและหากินของนกน้ำ การดำเนินการในแต่ละปี นำต้นไม้ที่เกิดในบึงออก เพื่อให้เป็นบึงที่มีน้ำเป็นบริเวณกว้าง และทำระบบการไหลเวียนน้ำให้ไหลได้ตลอดเวลา
• การสำรวจและนับนกช่วงฤดูอพยพ : การสำรวจและนับนกประจำปี (Asian Water bird Census : Big Day) ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนการสำรวจชนิดนกและประชากรของกลุ่มนกในพื้นที่ของสถานตากอากาศบางปู เพื่อเป็นฐานข้อมูลร่วมกันทั้งของประเทศและของโลก (E -Bird) เป็นข้อมูลที่ทางศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ ร่วมลงใน Ebird และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์
• การตรวจหาเชื้อโรคของนกนางนวล : ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถานตากอากาศบางปู ตรวจหาเชื้อโรคของนกนางนวล โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจ บริเวณสะพานสุขตา ผลการสุ่มตรวจของปี พ.ศ. 2565 ไม่พบเชื้อโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์
• การช่วยเหลือนกบาดเจ็บ : ช่วงฤดูนกอพยพจะมีนกนางนวลธรรมดา และนกอื่นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งมาที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯซึ่งเป็นจุดพักนกที่ได้รับบาดเจ็บ ประเมินอาการเบื้องต้นและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการรักษาต่อไป

โปรแกรมด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environment Education) ของศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ

เพื่อให้ความรู้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับรายละเอียดของพื้นที่ ชนิดพันธ์พืชและสัตว์ที่พบ การหากิน แหล่งที่อยู่อาศัย ช่วงเวลาในการอพยพ ฐานการสำรวจ การสอนวิธีการสำรวจ วิธีการดูนก เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ โดยแบ่งตามเนื้อหาหลักสูตรออกเป็น 7 โปรแกรม ดังนี้

1. ความรู้ทั่วไปของป่าชายเลนที่บางปู

2. นก นกน้ำ และนกนางนวลที่บางปู

3. หาดโคลนและโลกของสัตว์หน้าดิน

4. ความหลากหลายทางชีวภาพของบางปู

5. พรรณไม้ในป่าชายเลน

6. ขยะทะเลและการอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล

7. ค่ายสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์

กิจกรรมเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ
กิจกรรมปลูกป่า เพื่อการพัฒนาฟื้นฟูโดยการปลูกต้นไม้เสริมเพิ่มเติมเข้าไปในพื้นที่มีการใช้พื้นที่ของชายฝั่งทะเล โดยชนิดพันธุ์ไม้ที่ใช้ปลูกในพื้นที่ ได้แก่ แสมขาว (Avicennia alba), โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata), โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) และลำพู (Sonnerratia caseolaris) การร่วมปลูกต้นไม้ป่าชายเลนที่บางปูจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน
การปล่อยสัตว์น้ำในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มจำนวนของสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน เป็นการพื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กับห้องเรียนธรรมชาติ ได้ปล่อยปูทะเล (Scylla serrata) และหอยแครง (Tegillarca granosa)
กิจกรรมการเก็บขยะทะเล เพื่อป่าชายเลน โดยปัจจุบันปัญหาขยะทะเลส่งกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์ทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งป่าชายเลนก็ได้รับผลกระทบเกิดการเสื่อมโทรมจากการทับถมของขยะปริมาณมหาศาล การเก็บขยะทะเลจึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่

แนะนำสถานที่สำคัญในพื้นที่สะพานสุขตา
ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของสถานตากอากาศบางปู ตัวสะพานทอดยาวออกจากสถานตากอากาศบางปูไปในทะเลอ่าวไทยระยะทางกว่า 500 เมตร เพื่อนำสู่ปลายทางของสะพาน คือ ศาลาสุขใจ ภายในศาลาสุขใจประกอบไปด้วยร้านอาหารศาลาสุขใจ ลานกิจกรรมเต้นรำ ลานลีลาศของกลุ่มผู้สูงอายุ และระเบียงที่ยื่นออกไปจากตัวอาคารให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินมารับลมทะเลพร้อมกับชมนกนางนวล และชมวิวทิวทัศน์ยามเย็น ซึ่งเมื่อมองออกไปทางขวาของสะพานสุขตา จะเห็นพระอาทิตย์ค่อยๆ ตกลงบนพื้นน้ำทะเลที่ขนานกับขอบฟ้าจนลับตาสู่ยามค่ำคืน




แหล่งท่องเที่ยงเชิงนิเวศ แหล่งความรู้ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ ได้จัดทำเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติที่สามารถเดินชมได้ด้วยตัวเอง โดยเส้นทางเดินเท้านี้จะผ่านระบบนิเวศแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ ผ่านดงต้นแสมอันเป็นจุดเกาะพักของนกนานาชนิด เส้นทางสายนี้จะเป็นทางเดินวงรอบระยะทางประมาณ 1,400 เมตร ผ่านถิ่นที่อยู่อาศัยของนกหลากชนิดพันธุ์ และจะมีหอชมเรือนยอดแสมที่สามารถจะมองเห็นพื้นที่ของศูนย์ศึกษาธรรมชาติในมุมสูงได้ และมีหอดูนกขนาดเล็กที่การออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ สำหรับให้ผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นดูนกเข้าเยี่ยมชม ในหอนี้จะช่วยให้การสังเกตพฤติกรรมของนกในธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด ทั้งยังมีอุปกรณ์ดูนก ได้แก่ กล้องสองตา กล้องเทเลสโคป และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ออกนำเดินชมธรรมชาติและดูนกอีกด้วย

map