ความเป็นมา


ทะเลสาบสงขลา


ทะเลสาบสงขลา



ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบสามน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลามีสภาพทางนิเวศที่หลากหลาย เนื่องจากเป็นที่ไหลรวมกันของต้นน้ำลำคลองเล็กๆ มากกมาย และยังมีทางออกสู่ทะเลอ่าวไทย ปริมาณและสภาพน้ำในทะเลสาบขึ้นอยู่กับน้ำจืดที่ไหลลงมาและน้ำเค็มจากทะเลหนุนเข้ามา ซึ่งในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสาบปริมาณมาก จึงผลักดันน้ำเค็มออกสู่ทะเลอ่าวไทย ในช่วงนั้นน้ำในทะเลสาบจะขุ่นและเป็นน้ำจืด แต่เมื่อถึงช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลสาบมีน้อย ทำให้น้ำเค็มไหลเข้ามาแทนที่จึงส่งผลให้น้ำในทะเลสาบเป็นน้ำกร่อย

map

• ทะเลสาบสงขลาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ตอนใหญ่ๆ ดังนี้
1. ทะเลน้อย มีพื้นที่ประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 1.2 เมตร เป็นทะเลสาบน้ำจืด บริเวณนี้มักพบพืชน้ำนานาชนิดและมีพื้นที่ป่าพรุขนาดใหญ่
2. ทะเลสาบตอนบน (ทะเลหลวง) อยู่ถัดจากทะเลน้อยลงมา มีพื้นที่ประมาณ 473 ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 2 เมตร ในอดีตเป็นท้องน้ำจืดขนาดใหญ่ แต่พบว่ามีการบุกรุกเข้ามาของน้ำเค็มค่อนข้างสูงในฤดูแล้ง
3. ทะเลสาบตอนกลาง (ทะเลสาบ) อยู่ถัดจากทะเลสาบตอนบน มีพื้นที่ประมาณ 360 ตารางกิโลเมตร ความลึกประมาณ 2 เมตร มีเกาะมากมาย เช่น เกาะสี่ เกาะห้า เกาะนางคำ พื้นที่ส่วนนี้เป็นการผสมผสานของน้ำเค็มและน้ำจืด จึงทำให้มีสภาพเป็นทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ในช่วงที่เป็นน้ำจืดจะมีพืชปกคลุมโดยทั่วไป
4. ทะเลสาบตอนล่าง (ทะเลสาบสงขลา) เป็นส่วนของทะเลสาบส่วนนอกสุดที่เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย มีพื้นที่ประมาณ 182 ตารางกิโลเมตร ความลึกประมาณ 1.5 เมตร
ยกเว้นช่องแคบที่เชื่อมกับอ่าวไทย ซึ่งใช้ในการเดินเรือ มีความลึกประมาณ 12-14 เมตร ทะเลสาบส่วนนี้เป็นบริเวณที่มีน้ำเค็ม แต่บางส่วนในฤดูฝนน้ำกร่อย และได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง บริเวณนี้มีการวางเครื่องมือประมงประเภทไซนั่งและโพงพางเกือบทั่วทะเลสาบ

• ทะเลสาบสงขลามีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ : ติดกับอำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอจุฬา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทิศใต้ : ติดกับประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย
ทิศตะวันออก : ติดกับอำเภอนาทวี และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันตก : ติดกับจังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล